Articles
บทความ
Aug 11, 2021
Success Story : ข้างหลังภาพรางวัลถ้วยเกียรติยศ “รังสรรค์ ตันติวงศ์” ประจำปี 2564

1. แนะนำตัวกันก่อน
ชื่อ ณรงค์ศักดิ์ สุริยาวรกุล หมายเลขสมาชิกสมาคม ฯ 7418 ครับชื่อเล่นว่า เอก เป็นคนหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาครับ ปรกติรับงานถ่ายภาพทั่วไป และเป็นวิทยากรสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นสมาชิกสมาคมฯ มาได้ราวๆ 7-8 ปีแล้วครับ ปีนี้ก็รู้สึกดีใจและภูมิใจมากครับที่ได้รางวัลชนะเลิศในรายการ “พิศเจริญเอกรงค์” ได้รับถ้วยท่านอาจารย์รังสรรค์ ตันติวงศ์ ส่งมาตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่่ผ่านมาครับไม่เคยได้ถ้วยเลย

2. อยากทราบกระบวนการสร้างงานของภาพที่ได้รางวัลนี้ และ มีวิธีเลือกภาพส่งอย่างไร
ผมได้มีโอกาสไปถ่ายรูปนี้ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดสงขลา โดยเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สุริยุปราคาพอดี ตั้งใจว่าจะไปถ่ายพระอาทิตย์ ระหว่างนั้นมีคณะครูจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้พานักเรียนมาดูปรากฏการณ์นี้ เลยคิดว่าเรื่องราว เนื้อหา มีความน่าสนใจ จากนั้นก็ได้ทำการคิดเรื่ององค์ประกอบภาพ อยากแนะนำว่าเวลาเราถ่ายรูป ไม่ควรถ่ายมุมในระดับสายตาเพียงอย่างเดียว มุมกดบ้าง มุมเสยบ้าง และลองเดินไปรอบ ๆ เพื่อหามุมที่ชอบก่อน

ภาพนี้จะเห็นได้ว่าผมถ่ายเสยขึ้น การถ่ายเสยนั้นด้วย Perspective ของภาพจะทำให้ตัว Subject ของภาพไม่นิ่งราบมีน้ำหนักเรื่องความพุ่งทะยานสูงกว่า เมื่อเลือกมุมที่ต้องการได้แล้วจากนั้นเป็นเรื่องของจังหวะซึ่งแน่นอนว่าผมไม่ได้กดมาแค่รูปเดียว กว่าจะมาเป็นรูปนี้ผมต้องกด shutter ไปหลายสิบรูปมาก เพื่อหาจังหวะที่คิดว่าดีที่สุด

เมื่อจังหวะ องค์ประกอบภาพ เนื้อหาภาพ ทำหน้าที่ของมันอย่างที่ผมต้องการ นั่นคือภาพที่ผมเลือก อาจจะมีการนำมาปรับแต่งเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ผมอยากให้ออกมามากที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมเชื่อว่าทั้งหมดทั้งมวลควรผ่านกระบวนการวางแผนที่ดี

ตอนจะส่งภาพเข้าร่วมประกวด ความจริงรายการนี้ให้ส่งภาพได้ถึง 5 ภาพ ผมเลือกที่จะส่งภาพคละแนวทาง คละ approach อาจมีตั้งแต่แบบแนวที่แสงจับใจมากๆ แนวที่มีความแปลกก็มี และแนวที่คิดว่านักถ่ายภาพหลายคนชื่นชอบคือพวก Landscape Portrait ฯลฯ เพราะว่าถ้าแนวไหนตก อีกแนวยังพอพิจิตใจกรรมการได้อยู่

3. มีคำแนะนำให้กับผู้ที่อยากลองประกวดภาพถ่ายอย่างไร
ผมว่าคนที่ชอบถ่ายรูปเขาจะเข้าใจเรื่ององค์ประกอบภาพอยู่แล้ว แต่อย่างตัวผมจะเน้นออกไปหาภาพถ่ายภาพบ่อยๆ พยายามถ่ายให้เยอะไว้ก่อน โอกาสจะมีภาพที่พอดีที่ลงตัว “มีแน่นอน “ผมคิดอย่างนั้นนะครับ เมื่อเราถ่ายบ่อยๆ จะมีมุมมองที่เป๊ะในสไตล์ของเราเอง ทุกครั้งที่กดถ่ายก็ถือว่าฝึกไปในตัวแล้วละครับ กดแนวตั้งแนวนอนแล้วมาเลือกอีกที แต่งรูปนิดหน่อย ปรับ contrast บ้างนิดหน่อย

การส่งประกวดภาพถ่ายคือสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้อย่างหนึ่ง บางครั้งเราอาจคิดว่าภาพเราดีแล้ว แต่มาเจอของคนอื่นกลับดูโอเครกว่าซึ่งเราเองอาจจะต้องยอมรับให้ได้ว่า หากเราได้รางวัลไม่ใช่แปลว่าเราเก่งที่สุด หรือเราพลาดไปก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราต้องท้อไม่กล้าทำในสิ่งที่เราชอบ คือไม่มีใครชนะทุกรายการ หรือแพ้ทุกรายการครับ มองในเรื่องของการเรียนรู้ ขยันถ่าย หาสนามส่ง รางวัลเป็นเพียงแค่ผลพลอยได้อย่างหนึ่ง

“อย่างเมื่อก่อนผมคิดว่าแนวทางพิศเจริญ หรือ Pictorial ต้องเป็นการเซ็ตถ่าย รอจังหวะแสงที่สวยต่างๆ แล้วให้เรื่องราวมันต้องจบอยู่ในเฟรมภาพ เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้จากการที่ผมส่งงานเข้าร่วมประกวดมาหลายปี หลายรายการ ได้มีโอกาสสนทนากับบรรดาอาจารย์ รวมถึงนักถ่ายภาพหลายๆท่าน โดยเฉพาะในงานเปิดนิทรรศการ งานมอบรองวัล หรือเวลาไปออกทริปถ่ายภาพกับทางสมาคม ฯ และหลายๆที่ ผมได้ความรู้ขยายออกไปว่าในยุคของพิศเจริญเองมันแตกได้ออกมาเป็นหลายๆ รูปแบบ ถึงแม้ผมจะชื่นชอบในแนวทางคลาสสิค เน้นสุนทรียภาพ แต่ก็อย่างที่บอกครับ ผมพร้อมเปิดรับในรูปแบบย่อยอื่น ๆ เเล้วผมชอบที่จะทดลอง และ เน้นสร้างสรรค์ผลงานให้แปลกใหม่เสมอ”


4. ได้เข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บ้างไหม
อยากบอกว่าผมได้รับโอกาสดี ๆ จากทางสมาคม ฯ มาหลายครั้ง แม้ผมอยู่ที่หาดใหญ่ สงขลา แต่เวลามีกิจกรรมที่น่าสนใจเช่นพวกทริปถ่ายภาพ หรือ โครงการฯ เกี่ยวกับ Workshop ทางการถ่ายภาพของทางสมาคม ฯ ผมพยายามจะเข้าร่วม ได้เจอเพื่อน ๆ คอเดียวกัน ได้เรียนรู้แนวทางการถ่ายภาพอื่นๆ บางทีผมตามไปร่วมกิจกรรมถึงสุโขทัย โคราช เลยนะครับ กิจกรรมต่างๆ ของทางสมาคมฯ ไม่ใช่มีแค่ประกวดภาพ แต่เน้นเรื่องการ educate คนและขยายศักยภาพของช่างภาพโดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกเพื่อให้เราไปต่อยอดอย่างอื่นได้ รางวัล และ เกียรติบัตรที่ผมได้รับจากทางสมาคมฯ ก็ใช้อ้างอิงเวลารับงานได้เป็นอย่างดี เช่น ล่าสุดที่มีโครงการ “60 ช่างภาพทั่วประเทศเปิดมุมมองใหม่ Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วยการรับรองจากทางสมาคม ฯ ก็เป็นส่วนผลักดันที่สำคัญที่ทำให้ผมได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

ตอนนี้ผมสนใจเรื่องของการสอบเกียรติยมทางการถ่ายภาพ A.RPST และ F.RPST (ขั้นสูง) ของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงโดยเฉพาะภาคีสมาคมถ่ายภาพทั่วโลก ซึ่งจะแตกต่างจากการประกวดภาพ เราจะต้องนำเสนอผลงานภาพถ่ายเป็นชุดเพื่อให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ตัดสินว่าจะมอบเกียรติบัตร A.RPST หรือ F.RPST ให้เราหรือไม่ อันนี้คือเป็นตัวชี้วัดทักษะหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการผลิตงานภาพถ่ายของเราเลย (ตั้งแต่ถ่ายยันพิมพ์ภาพออกมา) ข้อดีเมื่อผ่านแล้วคือ เวลาเราต้องทำโครงการเกี่ยวกับการถ่ายภาพในความร่วมมือของต่างประเทศนั้น หลายๆที่เราจะใช้เกียรตินิยมเหล่านี้เป็นการอ้างอิงเพื่อให้เค้าตัดสินใจเลือกให้เราเข้าร่วมโครงการ ฯ ได้

5. สุดท้ายอยากฝากอะไรกับนักถ่ายภาพ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่ม
ขยันหาความรู้ ขยันหาภาพ ขยันประเมิณสิ่งที่เราสร้างสรรค์ ความรู้ไม่มีวันจบ แนวทางภาพไม่มีคำว่าตายตัว ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลง จงสนุกกับสิ่งที่ทำครับ ผมใช้เวลา 4-5 ปีกว่าที่จะได้รางวัลที่หนึ่งของถ้วย “พิศเจริญเอกรงค์” ขณะที่บางคนส่งมาปีสองปีได้เลย แต่ไม่ว่ากรรมการจะเลือกภาพของผมหรือไม่ สุดท้ายผมก็จะยังชอบภาพของผมอยู่ดี เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากความต้องการและสิ่งที่ผมชอบครับ

ภาพประกอบ
กดรูปเพื่อขยาย

รางวัลชนะเลิศ : รางวัลถ้วยเกียรติยศ “รังสรรค์ ตันติวงศ์”
นายณรงค์ศักดิ์ สุริยาวรกุล